GRAPHIC DESINGER

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

Trichloroethylene

โดย นพ.วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ (24 มิถุนายน พ.ศ. 2554)
 
ชื่อ ไตรคลอโรเอทิลีน ( Trichloroethylene ) ||||| ชื่ออื่น Trichloroethene, Ethylene trichloride, Acethylene trichloride, 1,1,2-Trichloroethylene, TCE, Trilene
สูตรโมเลกุล C2HCl3||||| น้ำหนักโมเลกุล 131.4||||| CAS Number 79-01-6||||| UN Number 1710
ลักษณะทางกายภาพ ของเหลว ใส ไม่มีสี ระเหยง่าย มีกลิ่น
คำอธิบาย ไตรคลอโรเอทิลีน เป็นตัวทำละลายชนิดหนึ่ง ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล สารเคมีชนิดนี้ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด ที่พบบ่อยคือใช้เป็นน้ำยาล้างคราบมัน (degreaser) และเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำยาลบคำผิด น้ำยาทำความสะอาด ยาฆ่าแมลง รวมถึงใช้ในกิจการซักแห้ง ไตรคลอโรเอทิลีนมีฤทธิ์กดสมอง ทำให้เมาเคลิ้ม มีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำลายตับและไต ระคายผิวหนัง ทำให้เส้นประสาทเสื่อม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นขึ้นทั่วตัว ร่วมกับตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ และคาดว่าน่าจะเป็นสารก่อมะเร็ง
ค่ามาตรฐานในสถานที่ทำงาน ACGIH TLV (2006): TWA = 10 ppm, STEL = 25 ppm, Carcinogenicity = A2 ||||| NIOSH REL: Notation = Carcinogen, IDLH = Carcinogen ||||| OSHA PEL: TWA = 100 ppm, Ceiling 200 ppm ||||| ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม (สารเคมี) พ.ศ. 2520: TWA = 100 ppm, Ceiling 200 ppm
ค่ามาตรฐานในร่างกาย ACGIH BEI (2011): Trchloroacetic acid in urine at end of shift at end of workweek = 15 mg/L, Trichloroethanol in blood at end of shift at end of workweek = 0.5 mg/L
คุณสมบัติก่อมะเร็ง IARC Classification (1995) = Group 2A
แหล่งที่พบ ไตรคลอโรเอทิลีน เป็นตัวทำละลายที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น น้ำยาลบคำผิด น้ำยาล้างฟิล์ม ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาซักแห้ง (ลบรอยเปื้อนบนผ้า) กาว น้ำยาลบสี ในโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโลหะ นิยมใช้ไตรคลอโรเอทิลีนเป็นสารล้างคราบมัน (degreaser) เนื่องจากมีคุณสมบัติล้างคราบน้ำมันออกจากโลหะได้เกลี้ยงเกลา ทำให้โลหะเป็นมันวาว จึงถูกใช้ในอุตสาหกรรมโลหะหลายอย่าง เช่น โรงงานชิ้นส่วนนาฬิกาโลหะ โรงงานทำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การล้างคราบมันนี้ บางครั้งใช้ในรูปของเหลวเช็ดล้างโดยตรง บางครั้งก็จะใช้ในรูปไอระเหย (vapor degreasing) โดยการอบชิ้นส่วนโลหะในตู้ปิด ที่มีไอระเหยเข้มข้นของไตรคลอโรเอทิลีนคละคลุ้งอยู่ ในกิจการซักแห้งบางแห่ง ก็อาจยังพบมีการใช้ไตรคลอโรเอทิลีนเป็นน้ำยาซักแห้งอยู่ แม้ว่าในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะนิยมเปลี่ยนไปใช้สารอื่น เช่น เตตร้าคลอโรเอทิลีน (tetrachloroethylene) แทนเป็นส่วนมากแล้ว และนอกจากนี้ในอดีต ยังมีการใช้ไตรคลอโรเอทิลีนเป็นยาสลบสำหรับการผ่าตัดด้วย เพราะมีฤทธิ์กดสมองที่รุนแรง แต่เนื่องจากเป็นสารที่มีอันตรายมากเกินไป ปัจจุบันจึงเลิกใช้เป็นยาสลบแล้ว
กลไกการก่อโรค ไตรคลอโรเอทิลีนสามารถละลายในไขมันได้ดี ซึมผ่านผนังกั้นหลอดเลือดสมอง (blood-brain barrier) ได้อย่างรวดเร็ว ออกฤทธิ์กดสมองได้อย่างรุนแรงถ้าสูดดมเข้าไปปริมาณมาก ในกรณีการออกฤทธิ์กดสมองนั้น เชื่อว่าอาจเกิดจาก การที่ไตรคลอโรเอทิลีนไปรบกวนช่องทางผ่านแคลเซียมที่ปลายเซลล์ประสาท (calcium channel blockage) หรืออาจเกิดจากการกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเคมีออกมามากผิดปกติ (GABA stimulation) ฤทธิ์ต่อผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคือง เนื่องจากคุณสมบัติการละลายในไขมันได้ดี ทำให้สามารถดูดซึมเข้าทางผิวหนังได้รวดเร็ว ก่อให้เกิดผื่นแพ้ได้ ฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตอบสนองต่อฮอร์โมนกลุ่มกระตุ้นหัวใจ (cathecolamine) เช่น อีพิเนฟรีน (epinephrine) และ นอร์อีพิเนฟรีน (norepinephrine) มากขึ้น หัวใจจึงเต้นเร็วและผิดจังหวะ ฤทธิ์ในการรบกวนกระบวนการเคมีในร่างกาย สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ อะเซตาลดีไฮด์ดีไฮโดรจีเนส (acetaldehyde dehydrogenase) ทำให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเอทานอลในร่างกายถูกยับยั้ง เกิดการคั่งของอะเซตาลดีไฮด์ (acetaldehyde) ในเลือด ทำให้เกิดภาวะตัวแดงจากแอลกอฮอล์ (alcohol flush reaction) ที่มีชื่อจำเพาะ เรียกว่า ภาวะตัวแดงในคนงานล้างคราบมัน (degreaser’s flush) เกิดจากการดื่มสุรา แล้วไปทำงานสัมผัสไตรคลอโรเอทิลีน แล้วเกิดภาวะตัวแดงขึ้น สำหรับฤทธิ์ในการก่อมะเร็งนั้น เชื่อว่าอาจจะเป็นสารก่อมะเร็งได้ แต่กลไกยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ส่วนฤทธิ์การก่ออาการแพ้ (hypersensitivity) เชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับการไปกระตุ้นภาวะติดเชื้อไวรัสที่ซ่อนเร้นให้เกิด อาการขึ้น (herpes virus 6 reactivation) หรืออาจสัมพันธ์กับภาวะพันธุกรรมบางอย่าง
การเตรียมตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นตัวทำละลาย การรั่วไหลจะเป็นไปในลักษณะหกนองกับพื้น แต่ก็สามารถระเหยเป็นไอขึ้นมาได้มาก ไอหนักกว่าอากาศ ติดไฟได้ง่ายมาก ต้องระวังการลุกติดไฟเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบในโมเลกุล หากเกิดการเผาไหม้แล้วจะได้แก็สฟอสจีน (phosgene) และกรดไฮโดรคลอริก (hydrogen chloride) ซึ่งเป็นสารอันตรายมากเช่นกัน การเข้าไประงับเหตุ กรณีที่มีการรั่วไหลปริมาณมาก ต้องใส่ชุดทนไฟและควรเป็นชุดที่มีถังบรรจุอากาศในตัว
อาการทางคลินิก
  • อาการเฉียบพลัน หากได้รับสัมผัสในความเข้มข้นสูงเข้าไปปริมาณมาก จะกดสมองจนหมดสติ เสียชีวิตได้ หรือหากได้รับปริมาณสูงแล้วมีผลกระตุ้นหัวใจ จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน หากได้รับปริมาณต่ำลงมา ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิตทันที จะก่อให้เกิดอาการกดสมอง มึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เคลิ้มฝัน เมา อารมณ์ดี อาการมากขึ้นจะทำให้ เฉื่อยชา กระวนกระวาย สับสน เดินเซ ชัก หยุดหายใจ และโคมา ความดันโลหิตตก และหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดขึ้นได้ถ้าสัมผัสปริมาณมาก การสูดดมไอระเหยทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ คลื่นไส้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจหอบ หลอดลมตีบ การทำลายตับ (liver injury) และทำลายไต (renal injury) อาจพบได้ถ้าสัมผัสเข้าไปมากพอ การกิน ทำให้ คลื่นไส้ อาเจียน ปอดท้อง ถ้าสำลักจะเกิดปอดอักเสบ (chemical pneumonitis) ได้ การสัมผัสทางผิวหนัง ทำให้ระคายเคือง เกิดผื่นแพ้สัมผัส การสัมผัสถูกดวงตาทำให้ระคายเคืองกระจกตา การสัมผัสในปริมาณที่มากเพียงพออาจก่อให้เกิดผลต่อเส้นประสาทสมอง (cranial nerve) ซึ่งมักเป็นแบบที่สามารถกลับฟื้นเป็นปกติได้ (reversible) ที่พบมีรายงานคือ การชาของเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal nerve neuropathy) และการทำลายเส้นประสาทตา (optic neuritis) เป็นต้น
  • อาการระยะยาว ไตรคลอโรเอทิลีนสามารถผ่านรกได้ดี ผ่านออกจากร่างกายแม่ไปสู่ลูกทางน้ำนมได้ แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าไตรคลอโรเอทิลีนอาจมีผลต่อตัวอ่อนในครรภ์ ในด้านการก่อมะเร็งก็เช่นกัน แม้ข้อมูลจะไม่ถึงระดับยืนยันชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าไตรคลอโรเอทิลีนน่าจะเป็นสารก่อมะเร็งตับ ( liver) มะเร็งท่อน้ำดี (biliary tract) หรือมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด (non-Hodgkin’s lymphoma) ได้
  • อาการแพ้ นอกจากอาการพิษทั่วไปแล้ว ยังอาจพบอาการผิดปกติที่เกิดจากการสัมผัสไตรคลอโรเอทิลีน ในลักษณะอาการแพ้ (hypersensitivity) ได้ในคนบางกลุ่มอีกด้วย กลุ่มอาการแพ้ไตรคลอโรเอทิลีนนั้น มักเกิดในผู้ที่สัมผัสสารชนิดนี้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ – 1 เดือน จะเกิดอาการผื่นขึ้นได้ทั่วทั้งตัว เป็นผื่นแดง (erythematous rash) อาจมีลักษณะเป็นรูปเป้า (erythema multiforme) หากแพ้มากอาจเกิดเป็นกลุ่มอาการสตีเวน-จอห์นสัน (Steven-Johnson syndrome) ไปจนถึงกลุ่มอาการผื่นผิวหนังอักเสบตายรุนแรง (toxic epidermal necrolysis; TEN) อาการที่ผิวหนังจะเกิดร่วมกับ ภาวะตับอักเสบรุนแรง (hepatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ และมักพบ ภาวะไข้สูง (fever) ตัวเหลือง (jaundice) และระดับเม็ดเลือดขาวชนิดอิโอซิโนฟิลสูง (eosinophilia) ร่วมด้วย
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเพื่อยืนยันการสัมผัส ทำได้โดยการตรวจหา กรดไตรคลอโรอะซิติก ( trichloroacetic acid ) ในปัสสาวะ หรือ ไตรคลอโรเอทานอล (trichloroethanol) ในเลือด หลังเลิกกะ ในวันสุดท้ายของสัปดาห์การทำงาน การวินิจฉัยใช้การซักประวัติการสัมผัส ร่วมกับการตรวจร่างกาย เพื่อช่วยในการวินิจฉัย การตรวจที่มีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยได้รับพิษ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ระดับเกลือแร่ในเลือด (electrolyte) การทำงานของตับ (liver function test) การทำงานของไต (BUN & creatinine) ถ้ามีอาการหอบเหนื่อย หรือกินแล้วสำลัก ตรวจภาพรังสีทรวงอก (CXR) ถ้ามีอาการชาเส้นประสาท ตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาท (nerve conduction velocity) ถ้าหอบเหนื่อยมาก ความรู้สติลดลง ตรวจระดับออกซิเจนในหลอดเลือดแดง (arterial blood gas)
การดูแลรักษา
  • ปฐมพยาบาล นำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด ระวังเกิดไฟไหม้ ถอดเสื้อผ้า ทำการล้างตัวด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุดเพื่อลดการปนเปื้อน ถ้าเข้าตาให้ล้างตาด้วย ถ้ามีอาการมาก จนหมดสติ หยุดหายใจ บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉิน ควรรีบใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วย ทำการช่วยหายใจ รีบส่งพบแพทย์
  • การรักษา อันดับแรกควรประเมินการหายใจของผู้ป่วยว่าปกติดีหรือไม่ ถ้าหมดสติ ไม่หายใจ ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ และทำการช่วยหายใจ ประเมินความดันโลหิต ระบบไหลเวียนโลหิต ให้สารน้ำหากความดันตก ประเมินความรู้สติ วัดสัญญาณชีพ ให้ออกซิเจนเสริม รักษาตามอาการ ถ้ามีอาการเหล่านี้ เช่น ชัก (seizure) ปอดอักเสบ (chemical pneumonitis) โคมา (coma) ถ้าสัมผัสปริมาณมาก ต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยทุกราย ถ้ามีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) แบบที่หัวใจเต้นเร็วขึ้น ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยากระตุ้นหัวใจ เช่น อีพิเนฟรีน (epinephrine) หรือนอร์อีพิเนฟรีน (norepinephrine) ให้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย โพรพาโนลอล (propanolol) ฉีดทางหลอดเลือดดำ 1 – 2 mg ควรให้ผู้ป่วยอยู่สังเกตอาการอย่างน้อย 4 – 6 ชั่วโมง ในรายที่มีอาการมากๆ ควรให้นอนโรงพยาบาล กรณีที่กินมา หากมาถึงภายใน 30 นาที กินมาปริมาณมาก และผู้ป่วยรู้สึกตัวดี อาจพิจารณาใส่ท่อทางจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหารและล้างท้อง (gastric lavage) แต่หากกินมานานเกินกว่านั้น การล้างท้องอาจไม่ได้ช่วยลดการดูดซึม การให้ผงถ่านกัมมันต์เพื่อลดการดูดซึม ไม่มีข้อมูลถึงประโยชน์หรือประสิทธิภาพที่ชัดเจน โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ให้ ถ้าถูกผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด รักษาแผลไหม้ถ้ามี ถ้าสัมผัสดวงตาให้ล้างด้วยน้ำ ถ้ามีแผลที่กระจกตาเกิดขึ้น ให้ส่งปรึกษาจักษุแพทย์ ไม่มียาต้านพิษ (antidote) ที่จำเพาะสำหรับการรักษาพิษไตรคลอโรเอทิลีน การรักษาเน้นประคับประคองอาการเป็นหลักการรักษาในกรณีแพ้ (hypersensitivity) ต่อสารไตรคลอโรเอทิลีน คือการหยุดการสัมผัส รักษาอาการผื่นอักเสบรุนแรง และอาการตับอักเสบที่เกิดขึ้น งดการให้ยาฆ่าเชื้อ (antibiotic) ถ้าไม่มีหลักฐานการติดเชื้อที่ชัดเจน การให้ยาฆ่าเชื้อขนาดสูงจะทำให้ตับผู้ป่วยทำงานมากขึ้น เร่งให้เกิดตับวายและเสียชีวิตได้ อาจพิจารณาให้ยาเสตียรอยด์ (steroid) ทางระบบ (systemic administration) ร่วมด้วย เพื่อลดอาการแพ้ และการอักเสบ อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการ ที่ยืนยันประสิทธิภาพของยาเสตียรอยด์ต่อการรักษาภาวะนี้ที่ชัดเจนนัก
การป้องกันและเฝ้าระวัง การป้องกันที่ดีที่สุดคือลดการสัมผัสตามหลักอาชีวอนามัย ใช้ระบบปิด ควบคุมที่แหล่งกำเนิด ให้ความรู้แก่พนักงาน กระบวนการทำงาน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารไตรคลอโรเอทิลีน ทางผิวหนังโดยตรง และหลีกเลี่ยงการสูดดมไอระเหยของสารนี้ด้วย การใช้ควรใส่ภาชนะที่มีฝาปิด หรือทำระบบปิดให้เรียบร้อย การเฝ้าระวังควรตรวจวัดระดับสารเคมีนี้ในอากาศ อย่างน้อยปีละครั้ง การตรวจสุขภาพให้เน้นที่ การสอบถามอาการระคายเคือง มึนงง วิงเวียนศีรษะ ไอ หอบเหนื่อย และแน่นหน้าอก ตรวจร่างกายควรดูผื่นแพ้ที่มือ ที่ผิวหนัง ตรวจระบบทางเดินหายใจ ควรตรวจเลือดดูการทำงานของตับ พนักงานที่ทำงานกับสารชนิดนี้ควรงดหรือลดการดื่มสุรา สำหรับกรณีอาการแพ้ไตรคลอโรเอทิลีน ยังไม่มีการตรวจใดที่จะทำให้รู้ล่วงหน้าได้ ว่าใครจะแพ้สารนี้ ป้องกันที่ดีที่สุดคือ เฝ้าระวังพนักงานที่เข้าใหม่ทุกราย หากทำงานกับสารเคมีชนิดนี้ไป 1 สัปดาห์ – ประมาณ 1 เดือน แล้วเกิดมีผื่นแดงขึ้น ร่วมกับตับอักเสบ ตัวเหลือง ให้รีบหยุดทำงานแล้วส่งตัวมาพบแพทย์เพื่อประเมินอาการทันที
ชมรมสัมมาอาชีวะ พ.ศ.2554 ไม่สงวนลิขสิทธิ์