GRAPHIC DESINGER

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ชะเอมเทศ : Gancao (甘草)

คำจำกัดความ

ชะเอมเทศ หรือ กันเฉ่า คือ รากแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza uralensis Fischer หรือ G. inflata Bat. หรือ G.glabra L. วงศ์ Leguminosae-Papilionoideae [1]

ชื่อภาษาไทย

ชะเอมจีน, ชะเอมเทศ, ชะเอมขาไก่ (ภาคกลาง) [2, 3]

ชื่อจีน

กันเฉ่า (จีนกลาง), กำเช่า (จีนแต้จิ๋ว) [1]

ชื่อภาษาอังกฤษ

Liquorice Root [1]

ชื่อเครื่องยา

Radix Glycyrrhizae [1]

การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวรากและเหง้าในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง แยกเอารากแขนงออก ตากแดดให้แห้ง เก็บรักษาไว้ในที่มีอากาศเย็นและแห้ง มีการระบายอากาศดี [1]

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้

การเตรียมตัวยาพร้อมใช้มี 2 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 ชะเอมเทศ เตรียมโดยนำวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้ มาล้างด้วยน้ำสะอาด ใส่ภาชนะปิดฝาไว้เพื่อให้อ่อนนุ่ม หั่นเป็นแว่นหนา ๆ และนำไปทำให้แห้ง [1, 4, 5]
วิธีที่ 2 ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง เตรียมโดยนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์มาเจือจางด้วยน้ำต้มในปริมาณที่เหมาะสม ใส่ตัวยาที่ได้จากวิธีที่ 1 แล้วคลุกให้เข้ากัน หมักไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยา จากนั้นนำไปผัดในกระทะโดยใช้ระดับไฟปานกลาง ผัดจนกระทั่งมีสีเหลืองเข้มและไม่เหนียวติดมือ นำออกจากเตา แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น (ใช้น้ำผึ้งบริสุทธิ์ 25 กิโลกรัม ต่อตัวยา 100 กิโลกรัม) [1, 4, 5]

คุณภาพของตัวยาจากลักษณะภายนอก

ตัวยาที่มีคุณภาพดี ผิวนอกต้องมีสีน้ำตาลแดง มีคุณสมบัติแข็งและเหนียว ด้านหน้าตัดสีขาวอมเหลือง มีแป้งมาก และมีรสหวาน [6]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนจีน

ชะเอมเทศ รสอมหวาน สุขุม ค่อนข้างเย็นเล็กน้อย มีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหาร แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้อาการใจสั่น แก้ลมชัก โดยทั่วไปมักใช้เข้าในยาตำรับรักษาอาการไอมีเสมหะมาก พิษจากฝีแผล คอบวมอักเสบ หรือพิษจากยาและอาหาร โดยสามารถช่วยระบายความร้อนและขับพิษได้ [5, 7]
ชะเอมเทศผัดน้ำผึ้ง รสอมหวาน อุ่น มีสรรพคุณบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เสริมชี่ ทำให้การเต้นของชีพจรมีแรงและกลับคืนสภาพปกติ โดยทั่วไปมักใช้เข้าในตำรับยารักษาอาการม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนเพลียไม่มี แรง ชี่ของหัวใจพร่อง ปวดท้อง เส้นเอ็นและชีพจรตึงแข็ง ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ และชีพจรเต้นหยุดอย่างมีจังหวะ [5]

สรรพคุณตามตำราการแพทย์แผนไทย

ชะเอมเทศ รสหวาน ชุ่มคอ มีสรรพคุณแก้ไอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่า บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น แก้กำเดาให้เป็นปกติ ใช้สำหรับปรุงแต่งรสยาให้รับประทานง่าย เป็นยาระบายอ่อน ๆ [3, 5]

ขนาดยา

การแพทย์แผนจีน ใช้ขนาด 1.5-9 กรัม ต้มเอาน้ำดื่ม [1]

ข้อควรระวัง

ห้ามใช้ชะเอมเทศในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยที่โลหิตมีโปแทสเซียมต่ำมากหรือน้อยเกินไป หรือผู้ป่วยโรคไตบกพร่องเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ [8]

ข้อมูลวิชาการที่เกี่ยวข้อง

  1. การศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันของชะเอมเทศที่ผัดน้ำผึ้ง และไม่ได้ผัด พบว่าฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันของชะเอมเทศผัดน้ำผึ้งจะแรงกว่าชะเอมเทศไม่ได้ ผัดมาก ดังนั้นชะเอมเทศผัดน้ำผึ้งจึงนับเป็นตัวยาที่มีสรรพคุณบำรุงชี่ที่ดีที่สุด ในทางคลินิก [5]
  2. ชะเอมเทศมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนคอร์ติโซน ระงับไอ ขับเสมหะในหนูถีบจักร ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและบรรเทาอาการบวมอักเสบในหนูขาว แก้แพ้และเสริมภูมิต้านทานในหนูตะเภา [7, 9]
  3. สารสกัดชะเอมเทศด้วยน้ำมีฤทธิ์แก้พิษของสตริคนีนได้ และสารสกัดเข้มข้นสามารถแก้พิษเฉียบพลันของแอมโมเนียมคลอไรด์ได้ รวมทั้งสามารถป้องกันพิษเฉียบพลันที่ทำให้ถึงตายของซัลไพรินได้ นอกจากนี้ชะเอมเทศยังสามารถลดความเป็นพิษของฮีสตามีน คลอรอลไฮเดรท โคเคน แอซิโนเบนซอลและปรอทไบคลอไรด์ได้อย่างเด่นชัด และสามารถแก้พิษปานกลางหรือเล็กน้อยต่อคาเฟอีน นิโคติน เป็นต้น [10, 11]
  4. ชะเอมเทศมีสรรพคุณระบายความร้อน ขับพิษ แก้ไอ ขับเสมหะ โดย ทั่วไปมักใช้เข้าในยาตำรับรักษาอาการไอมีเสมหะมาก พิษจากฝีแผล คอบวมอักเสบ หรือพิษจากยาและอาหาร เป็นต้น โดยสามารถช่วยระบายความร้อนและขับพิษได้ [7, 9]
  5. ชะเอมเทศมีสรรพคุณรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กในระยะเริ่ม แรก จากการ ศึกษาในผู้ป่วยจำนวน 50-200 ราย พบว่าได้ผลร้อยละ 90 โดยเฉพาะผู้ป่วยรายที่มีอาการปวดเมื่ออวัยวะมีการเคลื่อนไหวจะได้ผลดี ปกติหลังรับประทานยาแล้ว 1-2 สัปดาห์ อาการปวดจะหายหรือลดลงอย่างเด่นชัด อุจจาระเป็นเลือดจะลดลง ชะเอมเทศสามารถรักษาแผลที่กระเพาะอาหารได้ผลดีกว่าแผลที่ลำไส้เล็กในระยะ เริ่มเป็น หลังการรักษาแล้วตรวจด้วยเอ็กซเรย์ พบว่าแผลหายเร็วกว่า แต่รายที่มีอาการโรคอื่นแทรกซ้อนมักไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ เพราะคนไข้ที่หายแล้วจำนวนกว่าครึ่งเมื่อหยุดยาแล้ว จะปรากฎอาการขึ้นอีก [9, 11]
  6. ผงชะเอมเทศมีสรรพคุณแก้อาการปัสสาวะออกมากผิดปกติ (เบาจืด) จากการรักษาผู้ป่วยโรคเบาจืดที่เป็นมานาน 4-9 ปี จำนวน 2 ราย โดยใช้ผงชะเอมเทศ 5 กรัม รับประทาน 4 ครั้ง พบว่าได้ผลในการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ป่วยเมื่อแรกเข้าโรงพยาบาล ระดับน้ำเข้าออกวันละ 8,000 มิลลิลิตร หลังจากรับประทานยาแล้วปัสสาวะลดลงเหลือวันละ 3,000-4,000 มิลลิลิตร มีผู้ป่วย 1 ราย ปัสสาวะลดลงเหลือ 2,000 มิลลิลิตร [9, 11]
  7. ผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ได้รับยารักษาวัณโรคแล้วได้ผลไม่น่าพอใจหรือมี อาการเลวลง เมื่อให้ยาสารสกัดชะเอมเทศร่วมด้วย จะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำเหลืองและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการอักเสบจะหายเร็วขึ้น ต่ออาการจุดแผลที่ปอดและหนองในช่องอก ได้ผลค่อนข้างดีและช่วยย่นระยะเวลาในการรักษาด้วย ผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคปอดจำนวนหลายสิบราย พบว่าเมื่อให้ยาผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหรือหาย และอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงจะลดลง เชื้อวัณโรคจะหายไป ผลจากการตรวจดูด้วยเอ็กซเรย์ แผลที่ปอดดีขึ้น อาการปอดชื้นจะหายไป น้ำที่ขังในช่องอกลดลงจนหายไป รูแผลที่ปอดที่มีลักษณะเป็นเยื่อจะหดเล็กลง เนื่องจากชะเอมเทศมีสารที่มีฤทธิ์คล้ายกับสารประเภทอ็อกซีคอร์ติโซน ซึ่งลดอาการอักเสบและทำให้อาการต่าง ๆ ดังกล่าวหายเร็วขึ้น และมีอาการข้างเคียงคล้ายกับสารประเภทอ็อกซีคอร์ติโซน เช่น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ตัวบวมน้ำ บางรายมีอาการหัวใจเต้นช้าลงหรือเร็วกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงหรือการทำงานของหัวใจไม่ปกติ ไม่ควรใช้ชะเอมเทศ [10, 11]
  8. ผลการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นหอบหืด โดยรับประทานผงชะเอมเทศ 5 กรัม หรือสารสกัดชะเอมเทศ 10 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าได้ผลดีขึ้นอย่างเด่นชัด อาการหอบหืดจะดีขึ้นหรือหายไปเป็นปกติในเวลา 1-3 วัน เสียงหอบหืดในหลอดลมจะหายไปในเวลา 11 วัน และการทำงานของปอดดีขึ้น มีผู้ป่วย 1 รายที่มีอาการกลับมาเป็นอีก และได้รักษาด้วยชะเอมเทศอีกก็ได้ผล [10, 11]
  9. ผลการรักษาผู้ป่วยจำนวน 13 รายที่มีอาการตัวเหลือง โดยให้รับประทานสารสกัดชะเอมเทศ ครั้งละ 15-20 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าอาการตัวเหลืองจะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 13 วัน ผู้ป่วยที่มีปริมาณน้ำดีออกมาในปัสสาวะในระดับ 3 จะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 10 วัน อาการตับโตจะลดลงอย่างเด่นชัดในเวลาประมาณ 10 วัน และอาการเจ็บที่ตับจะหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 8 วัน [10, 11]
  10. ชะเอมเทศมีสรรพคุณแก้อาการของโรคพยาธิใบไม้ในเลือดได้ผลดี เนื่องจากชะเอมเทศมีฤทธิ์คล้ายสารประเภทอ็อกซีคอร์ติโซน จึงสามารถใช้แทนคอร์ติโซนได้ ทำให้ต่อมหมวกไตขับสารออกมา ปกติเมื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาประมาณ 1-2 วัน อาการไข้เริ่มลดลง และจะลดลงเป็นปกติในเวลา 5-10 วัน ขณะเดียวกันสภาพทั่วไปจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติ [10, 11]
  11. ผลการรักษาผู้ป่วยลำไส้เล็กบีบตัวผิดปกติจำนวน 254 ราย โดยใช้สารสกัดชะเอมเทศ รับประทานครั้งละ 10-15 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าได้ผลอย่างเด่นชัดจำนวน 241 ราย (ร้อยละ 94.8) โดยใช้ระยะเวลาในการรักษา 3-6 วัน [10, 11]
  12. ผลการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดขอดจำนวน 8 ราย โดยให้รับประทานสารสกัดชะเอมเทศวันละ 12-20 มิลลิลิตร หรือรับประทานชะเอมเทศ 50 กรัม ต้มน้ำแบ่งรับประทานก่อนอาหาร 3 ครั้ง พบว่าได้ผลดี อาการปวดบวมเป็นเส้นหายไป เนื่องจากสารสำคัญในชะเอมเทศสามารถบรรเทาอาการอักเสบ ปวด และเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ระงับการเกิดกลุ่มก้อนเนื้อ ผู้ป่วยบางรายในระหว่างรักษามีอาการบวมน้ำเล็กน้อย ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อลดขนาดยาลงแล้ว อาการเหล่านี้จะหายไป นอกจากนี้มีรายงานว่าหากรับประทานสารสกัดชะเอมเทศวันละ 15 มิลลิลิตร โดยแบ่งรับประทานเป็น 3 ครั้ง พบว่าสามารถรักษาอาการหลอดเลือดดำอุดตันและอักเสบได้ หลังรับประทานยาแล้ว 3 สัปดาห์ พบว่าอาการส่วนใหญ่จะหายไป ผิวหนังสีแดงสดใสขึ้น อุ่นขึ้น ข้อเท้าและข้อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ [10, 11]
  13. มีรายงานว่า เมื่อใช้สารละลายด่างทับทิมในน้ำในอัตราส่วน 1:4,000 ล้างช่องคลอดของผู้ป่วยก่อนแล้วใช้สำลีเช็ดให้แห้ง จากนั้นใช้สารสกัดชะเอมเทศทาปากมดลูก พบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยที่ปากมดลูกอักเสบระดับปานกลาง ปกติใช้เวลาในการรักษา 2-3 รอบ (แต่ละรอบทา 5 ครั้ง) ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ ถ้าอักเสบจากเชื้อ Trichomonas ก็ต้องฆ่าเชื้อให้หมดเชื้อก่อน จึงมารักษาปากมดลูกที่อักเสบเน่าเปื่อยต่อไป [10, 11]
  14. ผลการรักษาผู้ป่วยผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสจำนวน 12 ราย โดยใช้สารสกัดชะเอมเทศด้วยน้ำความเข้มข้น 2% ทาบริเวณที่เป็นให้ชื้น ทุก 2 ชั่วโมงต่อครั้ง เวลาทายาแต่ละครั้งให้ทานาน 15-20 นาที เป็นเวลา 1-4 วัน อาการบวมแดงหายไป น้ำเหลืองหยุดไหล แผลที่เน่าเปื่อยจะหดเล็กลง และใช้ครีมซิงค์ออกไซด์หรือคาลาไมน์ทาต่ออีกหลายวัน ก็จะหายเป็นปกติ หรือใช้ชะเอมเทศจำนวน 30 กรัม ต้มเอาน้ำชะล้างแผลวันละครั้ง สามารถรักษาอาการผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคันจากการแพ้ได้ผลดี นอกจากนี้มีรายงานผลการรักษาผู้ป่วยผิวหนังบริเวณแขนขาแตกเป็นขุยมากจำนวน 17 ราย โดยใช้สารสกัดชะเอมเทศซึ่งเตรียมโดยใช้ชะเอมเทศ 30 กรัม หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ใน 75% เอทานอล จำนวน 100 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง กรอง สารสกัดที่ได้นำมาผสมกับกลีเซอรีนและน้ำจนครบ 100 มิลลิลิตร ใช้ทาบริเวณที่เป็นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ [10, 11]
  15. มีรายงานว่า ผลการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อตาอักเสบเป็นผื่นแดงจำนวน 60 ราย โดยใช้สารละลายสารสกัดชะเอมเทศด้วยน้ำความเข้มข้น 10-30% ใช้หยอดตาทุก 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง ตามอาการของโรค หยอดตาวันละ 3-4 ครั้ง พบว่าผู้ป่วยจำนวน 56 ราย ที่หายเป็นปกติหลังการรักษา 2-7 วัน และมีผู้ป่วยจำนวน 2 รายที่หยุดยาเร็วเกินไป ทำให้อาการกลับมาเป็นใหม่อีก นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อตาเป็นผื่นแดงอักเสบใช้ยานี้เป็นเวลา 2-14 วัน อาการปวด แดงจัด และผื่นแดง ๆ ค่อย ๆ ลดลงและหายเป็นปกติ [10, 11]
  16. ชะเอมเทศมีพิษน้อย แต่การรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นหรือมีอาการบวม7 การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร พบว่า ขนาดของสารสกัดเทียบเท่าผงยาเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่ทำให้หนูถีบจักรตาย ร้อยละ 50 (LD50) มีค่าเท่ากับ 3.6กรัม/กิโลกรัม [9]

แหล่งอ้างอิง

  1. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of China. Vol.I. English Edition. Beijing: People’s Medical Publishing House, 2005.
  2. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต, ธีรวัฒน์ บุญทวีคุณ (คณะบรรณาธิการ). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544). สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ประชาชน จำกัด, 2544.
  3. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. การพัฒนาสมุนไพรแบบบูรณาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2550.
  4. Gong QF. Zhongyao Paozhi Xue. 2nd ed. Beijing: National Chinese Traditional Medicine Publishing House, 2003.
  5. Ye DJ, Zhang SC, Huang WL, Pan SH, Gong QF, Chen Q. Processing of traditional Chinese medicine. 7th ed. Shanghai: Publishing House of Shanghai College of Traditional Chinese Medicine, 2001.
  6. Liu TS, Pan QP, Zhou YS, Wu ZY. XiuZhen Zhongyaoyinpian Caise Tuben. 1st ed. Hunan: Hunan Science & Technology Publishing House, 2006.
  7. ชยันต์ วิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงศ์. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548.
  8. World Health Organization. WHO monographs on selected medicinal plants. Volume 1. Geneva: World Health Organization, 1999.
  9. Bensky D, Gamble A. Chinese herbal medicine: Materia medica. Revised edition. Washington: Eastland Press, 1993.
  10. Zhou QL, Wang BX. Radix Glycyrrhizae: gan cao. In: Wang BX, Ma JK, Zheng WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds.). Modern study of pharmacology in traditional Chinese medicine. 2nd ed. Tianjin: Tianjin Science & Technology Press, 1999.
  11. เย็นจิตร เตชะดำรงสิน. ชะเอมเทศ. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 2547; 2 (3): 75-89.


23 มิถุนายน 2553 20 กรกฎาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น